หน่วยที่ 8 การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศกับการเรียนการสอน

เทคโนโลยีสารสนเทศ
สามารถนำมาประยุกต์เพื่อสร้างเป็นระบบสารสนเทศสำหรับงานด้านต่าง ๆ
ภายในองค์กรได้อย่างมากมาย ระบบงานภายในองค์กรซึ่งอยู่ในที่นี้จะกล่าวถึง คือ
ระบบงานทางธุรกิจทั่วไปที่องค์กรธุรกิจส่วนใหญ่ต้องดำเนินการ
ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจของแต่ละองค์กร เช่น ระบบบัญชีเงินเดือน
ระบบสินค้าคงคลัง และระบบบัญชี เป็นต้น ทั้งนี้
ก็เพื่อให้การดำเนินงานในแต่ละวันขององค์กรมีประสิทธิภาพและมีศักยภาพมากขึ้น
1. ระบบประมวลผลรายการข้อมูล
(Transaction Processing System : TPS)
เป็นระบบที่ช่วยในการประมวลผลรายการข้อมูลทุกครั้งที่มีการนำเข้าสู่ระบบ
โดยข้อมูลนั้นเกิดจากการดำเนินงานประจำวันของธุรกิจ นอกจากนี้ระบบประมวลผลรายการข้อมูลยังช่วยจัดเก็บและดูแลข้อมูลได้เป็นอย่างดี
สำหรับงานที่ทำให้เกิดรายการข้อมูลที่จำเป็นต้องได้รับการประมวลผลทุกครั้ง
ยกตัวอย่างเช่น การจัดซื้อวัตถุดิบ การซื้อ-ขายสินค้า การส่งสินค้า การจองตั๋ว
ลงทะเบียน การออกใบแจ้งรายการสินค้า ใบสำคัญจ่าย เป็นต้น จำลองภาพการทำงานของระบบได้
การนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้
จะทำให้การนำเข้าและการประมวลผลรายการข้อมูลของระบบงานต่าง ๆ
รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สามารถรองรับรายการข้อมูลในปริมาณมากได้
2. ระบบการวางแผนทรัพยากรภายในองค์กร
(Enterprise Resource Planning System : ERP)
เป็นระบบการวางแผนจัดการทรัพยากรภายในองค์กร
ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบ บุคคล และเวลา
รวมไปถึงข้อมูลที่มีความเกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจกรรมในระบบธุรกิจ
ระบบนี้มีรูปแบบการบริหารทรัพยากรแบบรวมหน่วย ซึ่งมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรร่วมกัน
ภายใต้ระบบคอมพิวเตอร์ ระบบการสื่อสารข้อมูล
และการเชื่อมโยงกิจกรรมที่แตกต่างกันเข้าด้วยกัน
แนวคิดหลักของระบบการวางแผนทรัพยากรภายในองค์กร
คือ “การแยกส่วนงาน
แต่ใช้สารสนเทศร่วมกัน” ซึ่งทำให้ประหยัดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ
และลดความผิดพลาดในการสื่อสารข้อมูลระหว่างหน่วยงานหรือระหว่างองค์กร
การสร้างระบบการวางแผนทรัพยากรภายในองค์กรให้นำไปใช้งานจริงได้ตามแนวคิดนั้น
ก็คือ การสร้างซอฟต์แวร์ขึ้นมา 1 ระบบ
ที่รวมเอาฟังก์ชันการทำงานของระบบสารสนเทศของแต่ละแผนกเข้ามาไว้ในซอฟต์แวร์เดียวกัน
และใช้ฐานข้อมูลเดียวกัน ซึ่งก็คือการใช้ทรัพยากรร่วมกันทั้งองค์กร ดังนั้นซอฟต์แวร์ระบบการวางแผนทรัพยากรภายในองค์กรจึงเป็นซอฟต์แวร์ที่มีขนาดใหญ่และมีความซับซ้อนสูงมาก
กล่าวโดยสรุปก็คือ
ระบบการวางแผนทรัพยากรภายในองค์กรจะช่วยให้ระบบงานสารสนเทศของทุกแผนกในองค์กร
สามารถเชื่อมโยงกันได้ เพราะจะต้องใช้ฐานข้อมูลเดียวกันทั้งองค์กร ซึ่งหมายความว่า
ข้อมูลที่ได้จากแผนกหนึ่งจะถูกประมวลผลและจัดเก็บเพื่อให้เป็นข้อมูลนำเข้าสู่การประมวลผลของอีกแผนกหนึ่งตามเส้นทางการทำงาน
(Workflow)
ในกระบวนการธุรกิจ
3. คลังข้อมูล (DATA
Warehouse) หมายถึง
หลักการหรือวิธีการที่จะดึงเอาข้อมูลจากระบบประมวลรายการข้อมูล
มาจัดเก็บไว้ในแหล่งจัดเก็บอีกแห่งหนึ่ง เรียกว่า “Data Warehouse” เพื่อให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึง วิเคราะห์และเรียกใช้ข้อมูลดังกล่าวได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อระบบประมวลผลรายการข้อมูลของแต่ละแผนกเลย
การจัดเก็บข้อมูลที่เกิดขึ้นในแต่ละวันขององค์กรไว้ในคลังข้อมูล
จะช่วยให้นำข้อมูลเหล่านั้นมาใช้งานง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการนำมาสร้างรายงาน
ตลอดจนการนำข้อมูลมาวิเคราะห์
โดยไม่ส่งผลกระทบต่อระบบสารสนเทศของแต่ละแผนกที่ดำเนินการในแต่ละวันเลย
ข้อมูลในคลังข้อมูล โดยส่วนใหญ่จะถูกนำมาใช้ประโยชน์ในด้านการตัดสินใจของผู้บริหารในองค์กรหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง
ดังนั้น ข้อมูลที่อยู่ในคลังข้อมูลนั้น จะต้องมีคุณสมบัติหลายอย่าง เช่น จะต้องมีความถูกต้อง
เชื่อถือได้ สามารถเรียกใช้งานได้ง่าย มีเครื่องมือช่วยวิเคราะห์ข้อมูล
4. ระบบการจัดการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า
(Customer Relationship Management : CRM)
ระบบการจัดการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า
หมายถึง ระบบที่มีการนำวิธีการและเทคโนโลยีสารสนเทศต่าง ๆ
มาใช้จัดการกิจกรรมทางด้านการตลาด การขาย และการบริการ
เพื่อก่อให้เกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างองค์กรกับลูกค้า
ระบบการจัดการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า
เป็นระบบหนึ่งที่นำข้อมูลจากคลังข้อมูลมาใช้
ซึ่งแน่นอนว่าข้อมูลส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับ “ลูกค้า” ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลการให้บริการ
ความคิดเห็นของลูกค้า ตลอดจนรายละเอียดของลูกค้า
มาวิเคราะห์หาวิธีการที่จะสร้างความพึงพอใจและตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุด
เพื่อให้ลูกค้ามีความภักดีและเป็นลูกค้าที่ดีขององค์กรตอลดไป
โดยการนำเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ เข้ามาปรับใช้ให้ได้มากที่สุด เป้าหมายของระบบการจัดการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า
คือ จะต้องนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาเป็นเครื่องมือ ช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างองค์กรกับลูกค้าให้เกิดขึ้นได้
กล่าวอีกนัยหนึ่ง ระบบการจัดการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าเกิดจากความพยายามในการค้นหาวิธีบริหารจัดการการดำเนินธุรกิจให้ดีขึ้นเรื่อย
ๆ โดยอาศัยพฤติกรรมของลูกค้า
นอกจากซอฟต์แวร์ระบบการจัดการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าจะช่วยให้องค์กรสามารถเรียกใช้ข้อมูลลูกค้าจากคลังข้อมูลได้แล้ว
ระบบยังช่วยให้องค์กร สามารถดำเนินกิจกรรมทางการตลาด การขาย และการบริการผ่านทางเว็บไซต์ได้อีกด้วย
เช่น การซื้อ-ขาย สินค้าทางเว็บไซต์ การให้บริการธุรกรรมทางการเงิน การชำระค่าสินค้าและบริการต่าง
ๆ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังสามารถใช้ช่องทางอื่น ๆ ในกิจกรรมการตลาด การขาย
และการให้บริการได้ เช่น ศูนย์บริการลูกค้า ตัวแทนขาย ธุรกิจคู่ค้า เป็นต้น
5. ระบบสำนักงานอัตโนมัติ
(Office Automation System : OAS) เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า
ระบบสารสนเทศเพื่อสำนักงาน (Office Information System : OIS) เป็นระบบที่สนับสนุนกิจกรรมการทำงานในสำนักงานที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน
รวมทั้งช่วยให้บุคลากรไม่ว่าจะอยู่ในสถานที่เดียวกันหรือไม่ก็ตาม
สามารถติดต่อสื่อสารกันได้ เช่น การส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ การประชุมทางไกล
การจัดทำเอกสาร การนำเสนอข้อมูล เป็นต้น คุณลักษณะของระบบสำนักงานอัตโนมัติมีดังต่อไปนี้
5.1 มีการเก็บรวบรวมสารสนเทศต่าง
ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มบุคคลทุกกลุ่มไว้เพื่อการใช้งาน
5.2
ช่วยการทำงานอัตโนมัติด้านต่าง ๆ ได้แก่
5.2.1 การประมวลผลคำ (Word
Processing)
5.2.2 ส่งข้อความอิเล็กทรอนิกส์
หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (E-mail)
5.2.3 การทำงานร่วมกันด้วยเครือข่ายคอมพิวเตอร์
(Work Group Computing)
5.2.4 การกำหนดตารางทำงานร่วมกัน
(Work Group Scheduling)
5.2.5 เอกสารอิเล็กทรอนิกส์หรือรูปภาพ
(Electronics Document)
5.2.6 การจัดการกระแสการทำงาน
(Work Flow Management)
5.3 มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีร่วมกันระหว่างระบบสำนักงานอัตโนมัติ
กับระบบประมวลผลรายการข้อมูล ได้แก่
5.3.1 เทคโนโลยีการสร้างแบบฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์
(Electronic Form Technology)
เป็นการช่วยสร้างแบบฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้สามารถใช้งานร่วมกับฐานข้อมูลของระบบประมวลผลข้อมูลได้
5.3.2 เทคโนโลยีการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม
(Work Group Technology) เช่น โปรแกรม Lotus Notes เพื่อเตรียมวิธีการสำหรับการทำงานที่มีการใช้งานของผู้ใช้หลายคนเพื่อเข้าถึง
และปรับปรุงข้อมูลร่วมกันจากการทำงานที่เกิดขึ้นประจำวัน
5.3.3 เทคโนโลยีข้อความอิเล็กทรอนิกส์
(Electronic Messaging Technology)
พนักงานสามารถติดต่อสื่อสารกันได้ด้วยการส่งข้อความอิเล็กทรอนิกส์
5.3.4 เทคโนโลยีชุดโปรแกรมสำนักงานอัตโนมัติ
(Office Automation Suite Technology)
นำโปรแกรมที่ใช้ในสำนักงานมาประยุกต์ใช้ร่วมกัน
5.3.5 เทคโนโลยีรูปภาพ
(Imaging Technology)
เป็นการผสมผสานกันระหว่างรูปภาพและแบบฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์เพื่อใช้ในการทำงาน หรือ
เป็นการสแกนรูปภาพนั่นเอง
6. ระบบสารสนเทศในโรงงาน (Factory Automation)
เทคโนโลยีสารสนเทศถูกนำมาสร้างเป็นโปรแกรมและระบบคอมพิวเตอร์
เพื่อควบคุมการทำงานของเครื่องจักรในโรงงาน ซึ่งจัดอยู่ในอุตสาหกรรมการผลิต
ทำให้เกิดเป็นระบบสารสนเทศหลายประเภทที่ใช้ควบคุมกระบวนการผลิตในโรงงานให้ดำเนินงานได้อย่างอัตโนมัติ
ยกตัวอย่าง ดังนี้
6.1 ระบบการวางแผนและควบคุมความต้องการวัตถุดิบ
(Material Requirement Planning System : MRP)
หมายถึง ระบบที่ใช้เพื่อการวางแผนและควบคุมความต้องการวัตถุดิบในการผลิตสิ้นค้า
ในยุคแรกของเอ็มอาร์พีมีความสามารถเพียงการคำนวณหาปริมาณวัตถุดิบที่ต้องการใช้ในการผลิต
ต่อมาได้พัฒนามาเป็นเอ็มอาร์พีทูที่เพิ่มความสามารถในการจัดตารางการผลิต
ควบคุมความต้องการวัตถุดิบ และควบคุมการผลิต ทำให้เป็นระบบที่มีความซับซ้อน
เนื่องจาก ต้องมีการพยากรณ์ข้อมูลความต้องการสินค้าในตลาด เทียบกับวัตถุดิบที่มี
ทำให้สามารถระบุวันที่จัดซื้อวัตถุดิบ วันที่จัดส่ง วันผลิต ปริมาณการผลิต
กำลังการผลิต สินค้าคงคลังไปจนถึงวันที่ส่งสินค้าให้กับลูกค้าได้ทั้งกระบวนการ
เอ็มอาร์พี จัดเป็นโมดูลหนึ่งของระบบการวางแผนทรัพยากรภายในองค์กร
ที่จะต้องใช้ข้อมูลจากฐานข้อมูลเดียวกันทั้งองค์กร ซึ่งนอกจากการใช้ข้อมูลภายในองค์กรแล้ว
ยังต้องมีการเชื่อมต่อกับบริษัทผู้ค้าส่งวัตถุดิบและบริษัทตัวแทนขายขององค์กร
นับว่าเป็นกระบวนการที่ครบวงจร จึงทำให้เกิดระบบที่เรียกว่า “การจัดการโซ่อุปทาน
(Supply Chain Management : SCM)”
6.2 ระบบวิศวกรรม (Engineering
System) มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วย โดยมีระบบที่เรียกว่า “แคด
(CAD : Computer Aided Design)”
เป็นการนำคอมพิวเตอร์มาใช้ในการออกแบบและแก้ไขแบบ
ซึ่งคอมพิวเตอร์นั้นจะต้องมีคุณสมบัติพิเศษที่สามารถทำงานด้านกราฟิกได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ ยังมี “ซีเออี (CAE : Computer Aided Engineering)”
เป็นการนำคอมพิวเตอร์มาใช้สร้างแบบจำลองในคอมพิวเตอร์แทนการสร้างต้นแบบจริงที่จับต้องได้
เพื่อนำมาวิเคราะห์ จำลองสถานการณ์
และประเมินคุณภาพของแบบจำลองของต้นแบบนั้นทำให้องค์กรสามารถลดต้นทุนในส่วนนี้ลงได้
6.3 การดำเนินการผลิต
(Factory Operation) ด้านการดำเนินการผลิต
มีเทคโนโลยีที่เรียกว่า “แคม (CAM : Computer Aided
Manufacturing)”
ซึ่งเป็นการนำคอมพิวเตอร์มาควบคุมกระบวนการผลิตในแต่ละวัน
ประกอบไปด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์หลายโปรแกรมที่ควบคุมการใช้งานอุปกรณ์ในการผลิตให้เป็นไปอย่างอัตโนมัติ
การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศกับงานด้านบริหาร
สำหรับงานด้านบริหาร
ซึ่งเป็นงานที่ผู้บริหารส่วนใหญ่ต้องอาศัยสารสนเทศเป็นเครื่องมือประกอบการตัดสินใจ
การกำหนดนโยบายต่าง ๆ
ซึ่งนับว่าเป็นส่วนที่มีความสำคัญต่อองค์กรธุรกิจเป็นอย่างมาก
จึงได้มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาสนับสนุนการทำงานของผู้บริหารในลักษณะต่าง ๆ
ดังนี้
1. ระบบสนับสนุนการตัดสินใจ
(Decision Support System : DSS) เป็นระบบที่ช่วยสนับสนุนการตัดสินใจ
ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อเตรียมสารสนเทศที่เป็นประโยชน์ให้แก่ผู้ใช้ระบบที่เป็นผู้บริหาร
โดยสารสนเทศนี้ มักเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจแบบไม่มีโครงสร้าง (Unstructured
Decision) หรือแบบกึ่งโครงสร้าง (Semi-structured Decision)
ที่เป็นการตัดสินใจต่อเหตุการณ์ที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้าหรือคาดการณ์ได้ยาก
ระบบสนับสนุนการตัดสินใจเป็นระบบที่ส่งเสริมให้ผู้ใช้สามารถกระทำการตัดสินใจได้ด้วยความชาญฉลาด
แต่ทั้งนี้ไม่ได้ใช้ระบบสนับสนุนการตัดสินใจ เพื่อการตัดสินใจแทน ดังนั้น
เมื่อผู้ใช้ระบบต้องการตัดสินใจเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
หรือต่อเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง ผู้ใช้จะทำการป้อนข้อมูลที่เป็นตัวแปรต่าง ๆ
ของเหตุการณ์นั้นเข้าสู่ระบบสนับสนุนการตัดสินใจ จากนั้นระบบจะประมวลผลลัพธ์ต่าง ๆ
แล้วรายงานออกมาเป็นทางเลือกให้ผู้ใช้ระบบได้เห็นและรับทราบถึงข้อเปรียบเทียบ
โดยผลลัพธ์ที่ได้นั้นขึ้นอยู่กับตัวแปรที่แตกต่างกันของสถานการณ์นั้น ๆ
และสุดท้ายจึงเป็นหน้าที่ของผู้ตัดสินใจว่าจะปฏิบัติตามแนวทางหรือไม่อย่างไรจึงจะดีที่สุด
ในกรณีที่ระบบสนับสนุนการตัดสินใจ
ถูกนำไปใช้โดยผู้บริหารระดับสูง (Executive
Manager) ระบบนี้จะถูกเรียกว่า “ระบบสารสนเทศเพื่อผู้บริหารระดับสูง
(Executive Information Systems : EIS)”
2. ระบบสนับสนุนการทำงานแบบกลุ่ม
(Group Support System : GSS) คือ
การนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม เช่น
การประชุมทางไกล การถ่ายโอนข้อมูลจากคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่งไปยังอีกเครื่องหนึ่ง
เป็นต้น ระบบสนับสนุนการทำงานแบบกลุ่มเป็นระบบที่มีความสำคัญต่อระบบสนับสนุนการตัดสินใจมาก
ทั้งนี้ ก็เพื่อช่วยให้เกิดการตัดสินใจแบบกล่มได้ ดังนั้น โดยทั่วไปจึงมักเรียกระบบสนับสนุนการทำงานแบบกลุ่ม
ว่า “ระบบสนับสนุนการตัดสินใจแบบกลุ่ม (Group
Decision Support System)” หรือ “ระบบการประชุมอิเล็กทรอนิกส์
(Electronic Meeting System)”
การทำงานเป็นกลุ่มหรือการตัดสินใจแบบกลุ่มนั้น
จะพบในองค์กรขนาดใหญ่ เนื่องจากงานบางอย่างไม่สามารถตัดสินใจเพียงลำพังได้
และวิธีการร่วมกันตัดสินใจก็คือ “การประชุม”
ซึ่งถึงแม้ว่าการตัดสินใจแบบกลุ่มจะเป็นงานที่ซับซ้อนและใช้เวลามาก
แต่เมื่อนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วยแล้ว จะช่วยให้ทุกอย่างเป็นเรื่องง่ายขึ้น
ลดข้อจำกัดในเรื่องของการเดินทางมาประชุมได้
หรือสามารถร่วมประชุมโดยสมาชิกอยู่ต่างสถานที่กันได้
3. ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์
(Geographic Information System : GIS) คือ
ระบบสารสนเทศที่ใช้จัดการข้อมูลทางด้านภูมิศาสตร์ตั้งแต่ การจัดเก็บ ประมวลผล
วิเคราะห์ และแสดงผลข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลที่ภาพถ่าย (ภาพถ่ายดาวเทียม
ภาพถ่ายทางอากาศ) ข้อมูลสภาพภูมิศาสตร์ พื้นที่ ประชากร และอื่น ๆ
ที่เกี่ยวข้องกับภูมิศาสตร์ทั้งหมดโดยซอฟต์แวร์ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์จะช่วยให้ผู้ใช้สามารถจัดการ
เรียกใช้ และวิเคราะห์ข้อมูลเชิงภูมิศาสตร์ที่ต้องการได้
การจัดเก็บข้อมูลของระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์จะเก็บเป็นเลเยอร์
(Layer) แต่ละ เลเยอร์
คือ ข้อมูลแต่ละชนิด เช่น ข้อมูลที่เป็นภาพถ่าย แผนที่ ข้อมูลพื้นที่
ข้อมูลประชากร ข้อมูลเส้นทาง ข้อมูลยอดขายของแต่ละพื้นที่ เป็นต้น
เมื่อแสดงผลข้อมูลเหล่านี้จะมีการซ้อนทับกัน จนกลายเป็นรูปเดียวกัน
ถึงแม้ว่าข้อมูลจะถูกแยกเป็นเลเยอร์ แต่ทุกเลเยอร์จะมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันทั้งหมดองค์กรที่ติดตั้งระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์จะสามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์หาผลลัพธ์ที่ต้องการ
เพื่อนำไปใช้ในการตัดสินใจด้านต่าง ๆ ดังนั้น เทคโนโลยีสารสนเทศที่นำมาพัฒนาเป็นระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์นั้น
จะต้องมีความสามารถทางด้านกราฟิกเพื่อใช้ในการแสดงผลนอกจากนี้
ยังต้องมามีฐานข้อมูลเพื่อจัดเก็บข้อมูลชนิดต่าง ๆ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งฐานข้อมูลเพื่อจัดเก็บแบบจำลอง (Model)
ที่สร้างขึ้น
ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์นอกจากจะถูกนำไปใช้งานทางด้านการทหาร
หรืองานด้านการวางผังเมืองแล้ว ยังถูกนำไปใช้งานธุรกิจอีกมากมาย เช่น
การคำนวณเส้นทางการจัดส่งสินค้า การวิเคราะห์หาทำเลที่เหมาะกับการทำธุรกิจ เป็นต้น
สำหรับทิศทางระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์โดยส่วนใหญ่ จะเพิ่มความสามารถในด้านต่าง ๆ
ดังนี้
3.1 สามารถสร้างแบบจำลองแบบ
3 มิติ เพื่อจำลองการเคลื่อนที่ของพายุเฮริเคนใด้
3.2 เชื่อมโยงฐานข้อมูลแผนที่ให้สามารถแสดงบนเว็บไซต์ในเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้
3.3 เพิ่มความสามารถในงานด้านต่าง
ๆ ได้ เช่น งานกระดาษคำนวณ (Spreadsheet)
งานวิเคราะห์ข้อมูลด้วยเหมืองข้อมูล (Data Mining) เป็นต้น
3.4 เพิ่มเทคโนโลยีไร้สายให้สามารถติดตามการเดินทางของรถบรรทุกได้
4. ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial
Intelligence : AI) หมายถึง
ศาสตร์แขนงหนึ่งของวิทยาศาสตร์การคอมพิวเตอร์ ที่ต้องการประดิษฐ์เครื่องจักร เช่น
คอมพิวเตอร์ หรือหุ่นยนต์
ให้สามารถคิดและมีพฤติกรรมเลียนแบบมนุษย์ในกระบวนการตัดสินใจ แก้ไขปัญหาได้
ซึ่งอาจจะต้องมีการวินิจฉัย หาเหตุผล จากความรู้ที่จัดเก็บไว้ และนำความรู้นั้นมาเชื่อมโยงเพื่อหาข้อสรุปหรือผลลัพธ์ของปัญหานั้นได้ในที่สุด
ปัญญาประดิษฐ์เป็นแนวคิดที่เริ่มมีมาเมื่อ
40 ปีที่แล้ว แต่เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์พัฒนาความสามารถจนนำมาใช้สร้างปัญญาประดิษฐ์ได้
เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา งานวิจัยปัญญาประดิษฐ์ส่วนใหญ่ จะเกี่ยวข้องกับงานแขนงต่าง ๆ
หลายด้าน ได้แก่ หุ่นยนต์ (Robotic)
ระบบผู้เชี่ยวชาญ (Expert System : ES)
การประมวลผลภาษาธรรมชาติ (Natural Language Processing : NLP) และเทคโนโลยีเสียง (Voice / Speech Technology)
คอมพิวเตอร์โครงข่ายใยประสาท (Neural Network Computing)
ตรรกะคลุมเครือ (Fuzzy Logic) ตัวแทนปัญญา (Intelligent
Agent) ระบบช่วยสอนอันชาญฉลาด (Intelligent Tutoring System) ระบบความเป็นจริงเสมือน (Virtual Reality System)
ซึ่งงานแต่ละแขนงล้วนมีความเกี่ยวข้องกันทั้งหมด และมีจุดประสงค์เดียวกันคือ
ต้องการให้คอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ สามารถเลียนแบบมนุษย์ได้ ตัวอย่างเช่น ระบบผู้เชี่ยวชาญ
ซึ่งเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการนำเสนอองค์ความรู้ของผู้เชี่ยวชาญ
เพื่อแก้ไขปัญหาและให้คำแนะนำอย่างมีเหตุผล สามารถนำข้อมูลที่มีอยู่ในฐานข้อมูลของตนมาใช้ในการฝึกฝนการแก้ไขปัญหาเองได้คล้ายกับผู้เชี่ยวชาญที่เป็นมนุษย์
การพัฒนาระบบผู้เชี่ยวชาญจำเป็นต้องอาศัยองค์ความรู้จำนวนมาก เพื่อการแปลความ
เปรียบเทียบ และวิเคราะห์จนกว่าจะได้ผลลัพธ์
ตัวอย่างการนำระบบผู้เชี่ยวชาญมาใช้ในงานด้านธุรกิจ
เช่น ระบบ Expert Scheduling System ที่ใช้เพื่อจัดตารางงานผลิตในโรงงานโดยมีการเชื่อมโยงเข้ากับระบบอื่น ๆ
ของโรงงานด้วย เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างอัตโนมัติ นอกจากนี้ ยังมีการนำระบบผู้เชี่ยวชาญมาใช้เขียนแผนธุรกิจสำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่ของบริษัทด้วย
โดยระบบผู้เชี่ยวชาญจะให้ข้อมูลด้านต่าง ๆ เพื่อวิเคราะห์และตัดสินใจ เป็นต้น
5. คอมพิวเตอร์โครงข่ายใยประสาท
(Neural Network Computing) หรือ “โครงข่ายใยประสาทเสมือน
(Artificial Neural Network : ANN)” หมายถึง
คอมพิวเตอร์ที่สามารถเลียนแบบการทำงานของสมองมนุษย์ได้
ด้วยการประมวลผลข้อมูลสารสนเทศ และองค์ความรู้ได้ในคราวละมาก ๆ นอกจากนี้
ยังสามารถรับและจดจำสารสนเทศในรูปแบบที่เป็นประสบการณ์ได้ทำให้สามารถเชื่อมโยงข้อเท็จจริงทั้งหลายเข้าด้วยกันเพื่อหาข้อสรุป
และใช้ประสบการณ์ที่จัดเก็บไว้มาเรียนรู้และทำความเข้าใจว่า
ข้อเท็จจริงใหม่ที่ได้รับเข้ามามีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร
เพื่อทำการปรับปรุงองค์ความรู้ให้มีความทันสมัยเพื่อประโยชน์ในอนาคต
การเลียนแบบการทำงานของสมองมนุษย์ของเครื่องคอมพิวเตอร์
เริ่มจากการกำหนดให้แต่ละซอฟต์แวร์ เรียกว่า “โหนด (Node)” เปรียบเสมือนว่าเป็น “เซลล์ประสาท”
และสร้างการเชื่อมต่อให้กับโหนดเหล่านั้นให้เป็นโครงข่าย (Network) แต่ละโครงข่ายจะประกอบไปด้วยโหนดที่ถูกจัดแบ่งเป็นชั้น ๆ เรียกว่า “เลเยอร์” แต่ละเลเยอร์จะมีหน้าที่การทำงานแตกต่าง
ตัวอย่างการนำโครงข่ายใยประสาทเสมือนมาใช้ในงานด้านธุรกิจ
เช่น ใช้พยากรณ์ราคาหุ้น ประเมินความเสี่ยงของการประกันภัยทรัพย์สิน
ทำนายตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจ พยากรณ์อากาศ สร้างกลไกการวินิจฉัยข้อผิดพลาด เป็นต้น
6. ระบบความเป็นจริงเสมือน
(Virtual Reality System) หมายถึง
ระบบที่ช่วยให้ผู้ใช้ระบบเคลื่อนไหวจะมีปฏิกิริยาโต้ตอบกับสภาพแวดล้อมที่ถูกจำลองขึ้นโดยคอมพิวเตอร์ได้
(Computer Simulated Environment)
การที่ผู้ใช้ระบบจะสามารถมองเห็นและเข้าไปอยู่ในสภาพแวดล้อมจำลองนั้นได้
ต้องผ่านอุปกรณ์พิเศษที่ประดิษฐ์ขึ้นมาโดยเฉพาะ
เพื่อนำพาผู้ใช้ไปสู่โลกความเป็นจริงเสมือน ที่สามารถสัมผัสได้ทั้งภาพและเสียง
อุปกรณ์พิเศษเหล่านี้จะมีโปรแกรมบันทึกการเคลื่อนไหว เสียง
และการรับรู้ความรู้สึกของผู้ใช้ได้ เช่น รับรู้ว่าใช้หันศีรษะไปทางขวา ระบบ
จะต้องจำลองภาพให้มีการเคลื่อนไหวไปทางขวาตามผู้ใช้ เป็นต้น
ซึ่งทำให้ผู้ใช้มีความรู้สึกคล้ายกับอยู่ในโลกของความเป็นจริง
ยกตัวอย่างอุปกรณ์สำหรับระบบความเป็นจริงเสมือน เช่น ถุงมือ แว่นตา หมวก เป็นต้น
ระบบความเป็นจริงเสมือนถูกนำมาใช้ในกับงานด้านต่าง
ๆ เช่น ใช้ในการฝึกทหาร ฝึกขับรถบรรทุกภายใต้สภาพพื้นที่แตกต่างกัน ใช้แสดงแบบจำลองบ้านและอาคารบนเว็บไซต์
แสดงแบบจำลองของสินค้า หรือแสดงแบบจำลองห้องพักของโรงแรม เป็นต้น
การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศกับการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
1. ความหมายของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce)
พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
เป็นกิจกรรมการซื้อ-ขายผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์
(E-Business)
ที่เป็นการดำเนินธุรกิจโดยอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศและโทรคมนาคม
เป็นโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้สามารถติดต่อสื่อสารกับลูกค้า คู่ค้า ค้นหาข้อมูล
หรือทำงานร่วมกันได้ขององค์กร
การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Electronics Commerce) หมายถึง
รูปแบบทางธุรกิจทุกรูปแบบที่เกี่ยวเนื่องกับการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและโทรคมนาคม
มาใช้ในการประมวลผลและส่งผ่านข้อมูลดิจิตอล รวมทั้งข้อมูลเสียง และภาพเคลื่อนไหว
โดยรวมถึงผลที่เกิดจากการแลกเปลี่ยนข้อมูล ที่ส่งผลดีต่อองค์กร เช่น
การบริหารองค์กร การเจรจาทางธุรกิจ การทำนิติกรรมสัญญา การชำระบัญชี
รวมทั้งการชำระภาษี เป็นต้น
2. โครงสร้างพื้นฐานของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
การนำพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจ
จำเป็นต้องอาศัยโครงสร้างพื้นฐานของเทคโนโลยีเพื่อใช้เป็นแรงขับเคลื่อนธุรกิจให้สามารถบรรลุถึงเป้าหมายที่วางไว้
โดยแบ่งองค์ประกอบหลักเป็น 5 ส่วน ดังนี้
2.1 การบริการทั่วไป
เป็นส่วนบริการที่ช่วยอำนวยความสะดวกและรวดเร็วให้แก่ลูกค้าและสมาชิกที่สั่งซื้อสินค้าและบริการ
ไม่เพียงแต่จะช่วยสร้างความไว้วางใจแก่ผู้ใช้บริการแล้ว
ยังช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์อันดีให้กับองค์กรอีกด้วย ได้แก่ การรักษาความปลอดภัย
และระบบชำระเงิน
2.2 ช่องทางการติดต่อสื่อสาร
เป็นช่องทางการติดต่อสื่อสาร เพื่อใช้แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างผู้ใช้บริการกับผู้ให้บริการผ่านทางโครงข่ายโทรคมนาคม
ได้แก่ การแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ (Electronics Data
Interchange : EDI) อีเมล์ และ แอฟทีพี เป็นต้น
2.3 รูปแบบของเนื้อหา
เป็นการจัดรูปแบบของเนื้อหาเพื่อการนำเสนอสินค้าหรือบริการในรูปแบบสื่อประสม (Multimedia) ซึ่งผสมผสานระหว่างข้อความ ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว และเสียเข้าด้วยกัน
แล้วส่งผ่านทางเว็บไซต์บนระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตไปยังผู้ใช้บริการได้อย่างมีปฏิสัมพันธ์
ส่วนใหญ่จะสร้างขึ้นมาจากเครื่องมือหรือโปรแกรมภาษาที่ทำงานบนเว็บ เช่น เอชทีเอ็มแอล
จาวาสคริปต์ เอ็กซ์เอ็มแอล เป็นต้น
2.4 ระบบเครือข่าย
เป็นการเชื่อมต่อระหว่างเครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งแต่ 2 เครื่องขึ้นไปเข้าด้วยกัน
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้คอมพิวเตอร์สามารถสื่อสารกันได้ สำหรับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ได้อาศัยระบบเครือข่ายพื้นฐาน
ได้แก่ แลน แมน แวน รวมไปถึงเครือข่ายอินเตอร์เน็ต
2.5 ส่วนประสานกับผู้ใช้
เป็นส่วนที่ใช้ในการติดต่อระหว่างผู้ใช้บริการผ่านโปรแกรมเว็บเบราเซอร์
3. ประเภทของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ แบ่งออกเป็น 6 ประเภท ได้แก่ B2B,
B2C, C2C, C2B, B2G และ G2C
3.1 B2B (Business
to Business)
เป็นการทำธุรกรรมการค้าระหว่างผู้ประกอบการกับผู้ประกอบการ
หรือระหว่างองค์กรกับองค์กร เช่น การจัดซื้อ-จัดจ้าง (Procurement) การจัดการสินค้าคงคลัง การจัดการด้านการชำระเงิน เป็นต้น
เทคโนโลยีที่นำมาใช้สนับสนุน ได้แก่ การจัดการโซ่อุปทาน การแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์
เพื่อให้สามารถติดต่อแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้
องค์กรที่ทำธุรกรรมลักษณะดังกล่าวจะจัดตั้งเป็นกลุ่มธุรกิจ เช่น กลุ่มธุรกิจการบิน
กลุ่มธุรกิจค้าส่ง นำเข้าและส่งออก เป็นต้น
3.2 B2C (Business to Consumer) เป็นการทำธุรกรรมทางการค้าระหว่างผู้ประกอบการ (องค์กร)
กับผู้บริโภคโดยตรง โดยใช้รูปแบบการดำเนินงาน
และเทคโนโลยีที่ช่วยสนับสนุนที่คล้ายคลึงกับการทำธุรกรรมแบบ B2B
3.3 C2C (Consumer to Consumer) เป็นการทำธุรกรรมค้าระหว่างผู้บริโภคกับผู้บริโภค
โดยส่วนใหญ่จะใช้เทคโนโลยีที่ช่วยสนับสนุนเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนระหว่างกัน ในลักษณะการประมวล
หรือที่มักจะนิยมเรียกกันว่า “การจัดซื้อจัดจ้างทางอินเทอร์เน็ต
(E-Auction)” ทั้งนี้
จำเป็นต้องอาศัยคนกลางที่เป็นนายหน้าหรือตัวแทน นอกจากนี้ยังรวมไปถึงกิจกรรมอื่น ๆ
ได้แก่ การแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกัน การขายสินค้าที่ใช้แล้ว (สินค้ามือสอง)
และการรับสมัครงาน เป็นต้น
3.4 C2B (Consumer to Business) เป็นการทำธุรกรรมทางการค้าระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบการ (องค์กร)
โดยที่ผู้บริโภคได้มีการจัดตั้งเป็นกลุ่มสมาชิกหรือสหกรณ์
แล้วกระทำธุรกรรมกับผู้ประกอบการ (องค์กร) ในนามของกลุ่มสมาชิกหรือสหกรณ์
(ไม่ใช่ตัวบุคคล) ทั้งนี้ เพื่อใช้เป็นอำนาจในการต่อรองกับผู้ประกอบการ
(พนิดา พานิชกุล 2552: 206-228)
3.5 B2G (Business to Government) เป็นการทำธุรกรรมทางการค้าระหว่างภาคเอกชนกับภาครัฐ
ที่ใช้กันมากก็คือเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐหรือที่เรียกว่า ระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์
(E-Government Procurement) ในประเทศที่มีความก้าวหน้าด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แล้ว
รัฐบาลจะทำการซื้อ/จัดจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เป็นส่วนใหญ่เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย
เช่นการประกาศจัดจ้างของภาครัฐในเว็บไซต์ www.mahadthai.com
3.6 G2C (Government to Consumer)
ในที่นี้ไม่ใช่วัตถุประสงค์เพื่อการค้า แต่จะเป็นเรื่องการบริการของภาครัฐผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
ซึ่งปัจจุบันในประเทศไทยเองมีการให้บริการแล้วหลายหน่วยงาน เช่นการคำนวณและเสียภาษีผ่านอินเทอร์เน็ต,
การให้บริการข้อมูลประชาชนผ่านอินเทอร์เน็ต เป็นต้น เช่นข้อมูลการติดต่อการทำทะเบียนต่างๆของกระทรวงมหาดไทย
ประชาชนสามารถเข้าไปตรวจสอบว่าต้องใช้หลักฐานอะไรบ้างในการทำเรื่องนั้น ๆ และสามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มบางอย่างจากบนเว็บไซต์ได้ด้วย
สรุป
การนำเทคโนโลยีสารสนเทศไปประยุกต์ใช้ทำให้เกิดเป็น
“ระบบสารสนเทศ” ซึ่งหมายถึง ระบบที่มีการนำองค์ประกอบต่าง ๆ
ของเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ในการนำข้อมูลเข้าสู่ระบบ
แล้วผ่านกระบวนการประมวลผล
เพื่อให้ได้ผลลัพธ์เป็นสารสนเทศที่สามารถใช้สนับสนุนการตัดสินใจได้
ในที่นี้แบ่งการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้งาน ออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่
1. ด้านระบบงานในองค์กร
เช่น ระบบประมวลผลรายการข้อมูล (Transaction Processing System : TPS) คลังข้อมูล (Data Warehouse) ระบบสำนักงานอัตโนมัติ
(Office Automation System : OAS) เป็นต้น
2. ด้านการบริการ
เช่น ระบบสนับสนุนการตัดสินใจ (Decision Support System : DSS) ระบบสนับสนุนการทำงานแบบกลุ่ม (Group Support System: GSS) ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System : GIS) ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI)
ระบบผู้เชี่ยวชาญ (Expert System) เป็นต้น
3. การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
เป็นการทำธุรกรรมการค้าผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่
เทคโนโลยีสารสนเทศและโทรคมนาคมต่าง ๆ เพื่อให้สามารถส่งผ่านข้อมูลสินค้าและบริการ
ตลอดจนสามารถดำเนินกิจกรรมการขายสินค้าและบริการได้ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
แบ่งออกเป็น 6 ประเภท ได้แก่ B2B, B2C, C2C, C2B, B2G
และ G2C

ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น